ผิวหนังของเราจะรับมืออย่างไรกับ PM 2.5

Last updated: 9 ก.พ. 2562  |  1022 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผิวหนังของเราจะรับมืออย่างไรกับ PM 2.5

ผิวหนังของเราจะรับมืออย่างไรกับ PM 2.5

โดย : พญ. สุพิชญา ไทยวัฒน์


ช่วงเวลานี้เรื่องที่ประชาชนสนใจกันเป็นอย่างมาก คงไม่พ้นเรื่องของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ซึ่งส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ในหลายๆระบบ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และระบบผิวหนัง แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ออกมาเตือนและให้ความรู้ประชาชนในการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองต่อผลเสียของการสัมผัสฝุ่นมลพิษ PM 2.5 บทความนี้เพื่อให้ความรู้ประชาชนถึงผลของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มีผลต่อผิวหนังมนุษย์รวมถึงวิธีดูแล ป้องกัน และหลีกเลี่ยงเมื่อต้องเผชิญต่อฝุ่นมลพิษ PM 2.5



อะไรคือฝุ่นมลพิษ PM 2.5?
PM ย่อมาจาก Particulate Matter ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมลพิษที่ลอยในอากาศ (airborne particulate matter pollution) โดยปกติมลพิษประกอบไปด้วยสารหลายชนิดทั้ง ฝุ่นมลพิษ PM 2.5, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วน 2.5 มาจากขนาดของฝุ่นมลพิษ PM ที่เล็กเท่ากับขนาด 2.5 ไมครอน โดยรวมจึงเรียกว่า PM 2.5

ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ส่งผลอย่างไรกับผิวหนังมนุษย์?
เนื่องจาก ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 มีขนาดที่เล็กและเบาลอยอยู่ในอากาศ สามารถเข้าสู่ผิวหนังมนุษย์ได้โดยตรง ภาวะการเกิดมลพิษเป็นปัญหาในหลาย ๆ ประเทศและส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน มีงานวิจัยถึงผลของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่สามารถส่งผลกระทบต่อผิวหนังโดยแบ่งได้เป็นสองระยะดังนี้
ผลกระทบระยะเฉียบพลัน 
ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 สามารถทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้าของมนุษย์โดยตรง ทำให้เกิดการอักเสษของผิวหนังที่มากขึ้นได้ นอกจากนั้นยังทำลายโปรตีนที่ผิวหนังที่ชื่อ Filaggrin ซึ่งมีหน้าที่เป็นโปรตีนที่ช่วยป้องกันผิวหนัง (epidermal barrier protein) และเพิ่มการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง กล่าวโดยรวม ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคืองที่ผิวหนังได้โดยตรงหากมาสัมผัสที่ผิวมนุษย์
ผลกระทบระยะเรื้อรัง
มีงานวิจัยถึงผลของ ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ต่อผิวหนังมนุษย์ในระยะยาว พบว่าฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ทั้งในกระบวนการสร้างเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะความชราของผิวหนัง รวมถึงจุดด่างดำบนชั้นผิวหนังด้วย นอกจากนั้นยังพบการลดลงของการทำงานในระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังที่ลดลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้การส่งผลกระทบต่อผิวหนังในทั้งสองระยะ จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และ ระยะเวลาของการสัมผัสฝุ่นมลพิษ PM 2.5

ความเข้มขันของ ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ปริมาณเท่าใดจึงส่งผลกระทบต่อผิวหนัง?
มีงานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เพียงแค่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็สามารถกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังได้แล้ว และปริมาณฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่สูงมากขึ้น (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จะก่อให้เกิดผลเสียระยะยาว เช่น ความชราของผิวหนังก่อนวัย และจุดด่างดำบนผิวหนัง

ระยะเวลาในการสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 นานเท่าใดจึงส่งผลกระทบต่อผิวหนัง?
มีงานวิจัยในต่างประเทศถึงระยะเวลาของการสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มีต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์โดยทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์ผิวหนังมนุษย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป และตั้งแต่ 6-24 ชั่วโมง พบการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นของเซลล์ผิวหนังที่ไม่ต่างกัน กล่าวโดยสรุปคือ หากสัมผัสฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในระดับสูงในช่วงไม่เกิน 2 ชั่วโมง จะยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังมากนัก หลังจากนั้นเซลล์ผิวหนังจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ และเซลล์ผิวหนังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในชั่วโมงที่ 6 ขึ้นไป

จะป้องกัน ดูแลตัวเองจาก ฝุ่นมลพิษ PM 2.5อย่างไร?
ในการดูแลรักษาตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นมลพิษ PM 2.5 นั้น ควรทราบว่าตัวท่านเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ได้แก่ กลุ่มที่ความต้านทานของผิวหนังน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis), ลมพิษ (urticaria), สะเก็ดเงิน (psoriasis) ฯลฯ หากท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ควรงดเว้นการออกไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นมลพิษปริมาณมาก หรือสัมผัสให้สั้นที่สุด การใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย การทาโลชั่นหรือครีม การชะล้างทำความสะอาดผิวหนัง จะมีส่วนช่วยลดทอนการสัมผัสโดยตรงต่อ ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ได้

ทั้งนี้เรื่องของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ถือเป็นปัญหาระดับชาติซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ นอกจากประชาชนต้องดูแลตนเองให้พ้นจากผลเสียของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 แล้ว ประชาชนยังต้องทำความเข้าใจและไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ศึกษาข้อมูลเพื่อเป็นความรู้ประกอบเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างมีสติและปลอดภัย

ขอบคุณบทความ : http://www.dst.or.th/Publicly/Articles/1570.23.7/A8aNALmASY

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้